Chat with us, powered by LiveChat

คดีเช่าซื้อ

1. ทนาบเล่าเรื่อง คืนรถไปแล้วต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายภายใน 6 เดือน

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 563 มิได้บัญญัติไว้โดยตรงว่า การใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า จะต้องเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างสัญญาเช่าซื้อมีผลใช้อยู่ แต่การที่ ป.พ.พ. มาตรา 563 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า แสดงว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต้องเกิดขึ้นแล้วในวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า โดยอาจเกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้อยู่ หรือระหว่างที่ผู้เช่าซื้อยังครอบครองทรัพย์สินอยู่ แต่ค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ในราคาน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เป็นค่าเสียหายที่โจทก์จะทราบได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและขายไปแล้ว จึงเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 6 เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445  ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com 

*************************************

2. ทนายเล่าเรื่อง มายึดรถโดยไม่บอกเลิกสัญญา ผลที่ตามมาดูคำพิพากษาฎีกานี้ครับ

จำเลยทำสัญญาซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีเงื่อนไข เมื่อจำเลยผิดนัดชำระเงินโจทก์ได้ใช้สิทธิตามสัญญาเข้ายึดรถคืนมาโดยมิได้มีกบอกเลิกสัญญาก่อน หลังจากนั้นโจทก์ขายรถดังกล่าวไป ซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้ง ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว ทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรกโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนราคารถยนต์ที่รับไปแล้วแก่จำเลย และจำเลยต้องชดใช้เงินค่าใช้ทรัพย์นั้นแก่โจทก์ด้วยโดยถือเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถตามฟ้อง แต่ถือได้ว่าราคารถยนต์ที่โจทก์ได้รับไปแล้วเป็นค่าใช้ทรัพย์ส่วนหนึ่งแล้ว

ถูกฟ้องคดีที่ศาลใหน คดีอะไร ปรึกษาได้ที่เบอร์นี้ 099 464 4445  ค้นหาข้อมูลเพื่อสู้คดีได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com

*************************************

3. ทนายเล่าเรื่อง คดีขายอายุความแล้ว ฟ้องอะไรอีกได้บ้าง

จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าสิทธิเรียกร้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ศ. ผู้ให้เช่าซื้อเดิมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 แต่โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ คดีมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนับจากวันทำสัญญาหรือไม่เท่านั้น อีกทั้งไม่มีประเด็นอายุความอันเกี่ยวด้วยการเลิกสัญญาเนื่องจากจำเลยทั้งสองมิได้ให้การในประเด็นดังกล่าวไว้ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่และค่าขาดประโยชน์นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดประโยชน์และราคารถยนต์ส่วนที่ขาดได้นับแต่วันดังกล่าวตามมาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่สิทธิเรียกร้องของผู้ให้เช่าซื้อมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำสัญญา ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาภายใน 30 วัน และมีการบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันดังฟ้องของโจทก์ การที่ผู้ให้เช่าซื้อมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แต่เมื่อต่อมาบริษัท ศ. ติดตามรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2539 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 391 วรรคสาม พร้อมดอกเบี้ย และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกได้แต่ค่าใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้นจึงไม่ก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445  ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้   www.ทนายใกล้คุณ.com

*************************************

4. ทนายเล่าเรื่อง เป็นเพียงผู้เช่าซื้อก็เป็นผู้เสียหายได้

แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จึงเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้

ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445  ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com

************************************

5. ทนายเล่าเรื่อง ผู้ค้ำประกันควรมีเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันว่า 1

(1).เจ้าหนี้ต้องบังคับคดีกับลูกหนี้ก่อน เมื่อไม่มีทรัพย์จึงจะบังคับเอาจากทรัพย์สินของผู้คำ้ประกัน (2). ต้องมีผู้ค้ำประกันร่วมกันอย่างน้อย 3-4 คน จึงจะค้ำประกันหนี้รายนี้

ผู้ค้ำประกันคือ บุคคลผู้ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่จะชำระหนี้แทนลูกหนี้ดังกล่าว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ค้ำประกันไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 688 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน มาตรา 689 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน ถ้าการบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ไม่เป็นการยาก มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้ต้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน นอกจากนี้มาตรา 691 ยังได้บัญญัติว่า ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690 แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ค้ำประกันทำสัญญาว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันจะไม่มีสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 ถ้าไม่ได้ระบุว่ายอมรับผิดดังกล่าวไว้ในสัญญา ผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้ต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้เมื่อทำสัญญายกเว้นสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 ทั้งสามมาตรา คดีนี้จำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ คงมีแต่เพียงสัญญาข้อ 2 และข้อ 5 ที่ตกลงยกเว้นสิทธิตามมาตรา 688 และไม่อาจตีความว่าเป็นข้อตกลงยกเว้นสิทธิตามมาตรา 689 และ 690 ด้วย เพราะจะเป็นการตีความในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น อันเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 11  หนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนเท่านั้น ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้

มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445  ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้   www.ทนายใกล้คุณ.com

*************************************

6. ทนายเล่าเรื่อง สัญญาเช่าซื้อ ผู้ค้ำประกัน ศาลวินิจฉัยไว้อย่างไรบ้างไปดูกัน

สัญญาเช่าซื้อข้อ 12 กำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อและ/หรือบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินการตามข้อสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 3 และงวดที่ 4 แสดงว่าโจทก์สละสิทธิตามข้อสัญญานี้ หนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ไม่ถือเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีผลผูกพันอยู่ การที่ ช. ผู้รับจ้างในการติดตามรถที่เช่าซื้อรถของโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อคืน คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าขาดราคาส่วนที่ขายทรัพย์ที่เช่าซื้อไป หรือราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาข้อ 15 ซึ่งระงับไปแล้วไม่ได้ แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 50,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 260,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้พิพากษาตามศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,987.20 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระแก่โจทก์ออก ที่จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ 260,987.20 บาท เป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่จำเลยทั้งสี่

มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445  ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้   www.ทนายใกล้คุณ.com

************************************

7.  ทนายเล่าเรื่อง โปรดศึกษาฎีกาที่ศาลได้วินิจฉัยให้ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย

ผู้เช่าซื้อไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาแล้วนำออกขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในส่วนที่ขาดราคา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2566 (เล่ม 2 หน้า 39) โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันให้ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนและร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 787,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์ 45,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทนเสร็จสิ้นแต่ไม่เกิน 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน แต่สำหรับค่าขาดประโยชน์ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเพียง 10,000 บาท ผลแห่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงผูกพันคู่ความและทำให้จำเลยทั้งสองมีสถานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายชนะคดีหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีต่อไปได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และมาตรา 274 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 นอกจากนี้ หากละเลยเสียไม่ชำระหนี้ ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นประการใด โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองเพื่อความเสียหาย อันเกิดจากการนั้นได้อีกด้วย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 215

ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ส่งมอบรถยนต์ ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อย ใช้การได้ดี ทั้งไม่ได้ใช้ราคาแทนรถยนต์ให้แก่โจทก์ จนโจทก์ต้องขวยขวายติดตามรถยนต์คืน จากจำเลยที่ 1 และรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์ได้รับคืนมามีสภาพเสียหายชำรุดทรุดโทรม โดยมีรอยขีดข่วนรอบคัน เมื่อนำออกขายทอดตลาดได้เงินจากการขายต่ำกว่าราคารถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษาคดีก่อน กรณีจึงต้องถือว่า การละเลยเสียไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นราคารถยนต์ส่วนที่ขาดไป ซึ่งจำเลยทั้งสองในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ละเลยต่อหน้าที่ของตนต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์ อันแท้จริงแห่งหนี้ตามคำพิพากษาคดีก่อน มิใช่ค่าเสียหายที่เป็นหลักแหล่งแห่งข้อหาตามสัญญาเช่าซื้อ หรือข้ออ้างที่อาศัยความผูกพันกันตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเลิกกันไปแล้ว และศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดจนเสร็จสิ้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์อันเกี่ยวกับการบอกกล่าวผู้ค้ำประกันให้ทราบความผิดนัดของผู้เป็นลูกหนี้ว่าได้มีการบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตาม ป.พ.พ.มาตรา 686

( หมายเหตุ)
1 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยบังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 323,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นเงิน 10,000 บาท

 

2 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันทราบถึงการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ละเลยต่อการชำระหนี้ และควรต้องรับผิดไม่แตกต่างไปจากจำเลยที่ 1 ต้องหลุดพ้นไปเสียจากความรับผิดนั้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

 

3 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน ชำระเงิน 320,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย)

 

ถูกฟ้องคดีที่ศาลใหน คดีอะไร ปรึกษาได้ที่เบอร์นี้ 099 464 4445  ค้นหาข้อมูลเพื่อสู้คดีได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com

*************************************

8. ทนายเล่าเรื่อง สัญญาเช่าซื้อ

ฎีกาที่ 220/2562

ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 8 ระบุว่า "บรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าวใดๆ ของเจ้าของที่ส่งไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าตามสัญญานี้ โดยส่งเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่ลงทะเบียนไม่ว่าจะถึงตัวหรือไม่ถึงตัว และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่มีผู้ใดยอมรับไว้ หรือไม่ยอมมารับภายในกำหนดไปรษณีย์แจ้งให้มารับ ... ข้าพเจ้ายินยอมผูกพันให้ถือว่าหนังสือ จดหมาย หรือคำบอกกล่าวใดๆ นั้น ได้ส่งให้ข้าพเจ้าโดยชอบแล้ว" ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่าโจทก์ได้ส่งไปตามที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว แม้ทางไปรษณีย์จะคืนหนังสือที่ส่งไปให้จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มารับภายในกำหนดก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 จึงพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง สำหรับหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนถือเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เกิน 60 วัน นับแต่ผิดนัดก็ตาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน

ถูกฟ้องคดีที่ศาลใหน คดีอะไร ปรึกษาได้ที่เบอร์นี้ 099 464 4445  ค้นหาข้อมูลเพื่อสู้คดีได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com

***********************************

9. ทนายเล่าเรื่อง ผู้ค้ำประกันจะพ้นผิดแค่ไหนเพียงใดไปดูฎีกานี้ครับ

ฎีกาที่ 5789/2562

สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย

ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445  ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com

*************************************

10. ทนายเล่าเรื่อง ผู้เช่าซื้อ ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นภาระหนี้ได้อย่างไร

ฎีกาที่ 5714/2562

หนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอื่นนั้น มิใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้มีหลายอย่างซึ่งลูกหนี้มีสิทธิที่จะเลือกกระทำเพียงการใดการหนึ่งแต่อย่างเดียวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 แต่เป็นกรณีที่คำพิพากษาได้กำหนดขั้นตอนการชำระหนี้ไว้เป็นลำดับแล้ว กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อนเป็นลำดับแรก หากคืนไม่ได้จึงให้ใช้ราคาแทน ดังนั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อยังอยู่ในสภาพที่ส่งมอบคืนได้ โจทก์จะเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยการชำระราคาแทนโดยไม่ส่งมอบรถคืนจำเลยไม่ได้ ที่โจทก์นำเงินราคาใช้แทนกับหนี้อย่างอื่นตามคำพิพากษารวม 274,468.09 บาท ไปวางศาลเพื่อชำระแก่จำเลย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมรับเงินราคาใช้แทนดังกล่าวไปจากศาล หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงว่าจำเลยสละสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในลำดับแรก โจทก์จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ที่จะต้องส่งมอบรถคืน การที่โจทก์นำเงิน 274,468.09 บาท ไปวางศาลจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้เสร็จสิ้นครบถ้วนตามคำพิพากษา

เมื่อโจทก์ยังมีหนี้ที่ต้องส่งมอบรถคืนแก่จำเลยและไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะครอบครองใช้รถของจำเลยได้โดยชอบอีกต่อไป แม้จำเลยผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะติดตามเอารถคืนโดยไม่ได้ร้องขอต่อศาลให้บังคับคดีโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถหรือเสียโอกาสที่จะได้กรรมสิทธิ์ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นละเมิด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิดและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445  ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้   www.ทนายใกล้คุณ.com

*************************************

11.  ทนายเล่าเรื่อง นิยามคำว่า “รถยนต์” ตามความหมายของศาลฎีกา

ฎีกาที่ 7407/2562

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ในข้อ 3 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ให้คำนิยามว่า "รถยนต์" หมายความว่า "รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคนและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก" มิได้หมายความว่ารถยนต์ทุกประเภทจะอยู่ในบังคับตามประกาศดังกล่าว รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ลากจูงและรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน เป็นรถลากจูงไม่ประจำทาง โดยสองคันแรกน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม คันสุดท้ายมีน้ำหนัก 8,200 กิโลกรัม ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผงเป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทางทั้งสามคันมีน้ำหนักคันละ 8,400 กิโลกรัม การเช่าซื้อรถดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่อยู่ในบังคับตามที่ระบุในประกาศดังกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 มีข้อกำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยผู้ให้เช่าซื้อมิจำต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระเพียงบางส่วน หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันทันทีนับแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ มิใช่การเลิกสัญญาโดยสมัครใจของคู่สัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์

แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

มีคดีที่ศาลใหน ให้ทนายในเครือข่ายของเราช่วยท่าน ปรึกษาทนายความของเราได้ที่ 099 464 4445  ค้นหาทนายในเครือข่ายของเราได้ที่เวปไซต์นี้   www.เครือข่ายทนายความ.com 

*************************************** 

12. ทนายเล่าเรื่อง รถเช่าซื้อ ไม่ได้หาย ไปแจ้งความว่าหาย เป็นความอะไรบ้าง

ฎีกาที่ 981/2561

การที่จำเลยรู้ว่ามิได้เกิดเหตุลักทรัพย์รถกระบะ แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์รถกระบะที่จำเลยเช่าซื้อไป เพื่อจะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยไปชำระค่างวดแก่ธนาคาร ก. ผู้ให้เช่าซื้อ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 137 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไปอีก และเมื่อไม่เกิดมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172

มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445  ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้   www.ทนายใกล้คุณ.com

*************************************** 

13. ทนายเล่าเรื่อง รถเช่าซื้อถูกยึดเป็นของกลางในคดีอาญา ใครขอคืนได้

ฎีกาที่ 2605/2555

เดิมผู้คัดค้านเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ต่อมาผู้คัดค้านนำรถยนต์คันดังกล่าวไปเข้าไฟแนนซ์ที่บริษัท ว. ด้วยการโอนรถยนต์ให้แก่บริษัท ว. แล้วทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ว. กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมตกเป็นของบริษัท ว. แม้ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางทะเบียน เพราะรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้ด้วยเพียงการส่งมอบ และผู้ที่จะนำทรัพย์สินออกให้เช่าซื้อได้ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 รถยนต์จึงมิใช่ทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (1) ได้

ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคท้าย ว่า บรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้ถูกตรวจสอบมีอยู่หรือได้มาเกินฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่ผู้คัดค้านโอนรถยนต์ของกลางให้แก่บริษัท ว. ยังอยู่ในช่วงเวลา 10 ปี ก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด จึงเป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจตรวจสอบและยึดได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรา 22 วรรคห้า (3) เมื่อรถยนต์ของกลาง เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องสั่งริบตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445  ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้   www.ทนายใกล้คุณ.com

*************************************** 

14. ทนายเล่าเรื่อง การเช่าซื้อ

ฎีกาที่ 15831/2555

โจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์กะบะราคา 840,000 บาท ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ รถยนต์คันนี้โจทก์ร่วมชำระเงินดาวน์และเงินผ่อนไป 196,000 บาท ปัจจุบันบริษัทประกันภัยจ่ายเงินให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ไปแล้ว ดังนี้ โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องราคารถยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำนวน 196,000 บาท ไม่ใช่ 840,000 บาท มิฉะนั้นโจทก์ร่วมย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไป และจำเลยทั้งสามอาจต้องชำระราคารถยนต์ซ้ำซ้อนในกรณีบริษัทประกันภัยใช้สิทธิไล่เบี้ยฟ้องคดีแพ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445  ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้   www.ทนายใกล้คุณ.com

*************************************

Visitors: 42,428