Chat with us, powered by LiveChat

คดีค้ำประกัน

1. ทนายเล่าเรื่อง ผู้ค้ำประกัน การส่งเอกสารจะรับหรือไม่รับก็ถือว่าได้รับโดยขอบด้วยกฎหมายแล้ว

ฎีกาที่ 220/2562

ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 8 ระบุว่า "บรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าวใดๆ ของเจ้าของที่ส่งไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าตามสัญญานี้ โดยส่งเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่ลงทะเบียนไม่ว่าจะถึงตัวหรือไม่ถึงตัว และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่มีผู้ใดยอมรับไว้ หรือไม่ยอมมารับภายในกำหนดไปรษณีย์แจ้งให้มารับ ... ข้าพเจ้ายินยอมผูกพันให้ถือว่าหนังสือ จดหมาย หรือคำบอกกล่าวใดๆ นั้น ได้ส่งให้ข้าพเจ้าโดยชอบแล้ว" ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่าโจทก์ได้ส่งไปตามที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว แม้ทางไปรษณีย์จะคืนหนังสือที่ส่งไปให้จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มารับภายในกำหนดก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 จึงพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง สำหรับหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนถือเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เกิน 60 วัน นับแต่ผิดนัดก็ตาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน

ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445  ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com

*************************************** 

2. ทนายเล่าเรื่อง สัญญาค้ำประกัน ชำระหนี้แทนแล้ว สามารถบังคับเอากับใครได้บ้าง

ฎีกาที่ 3452/2562

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้อง และเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวและพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กล่าวแก้ปัญหาเรื่องอายุความ และฟ้องซ้ำในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ส่วนฟ้องซ้ำ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้มีการโต้แย้งในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกเป็นประเด็นในชั้นฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

อ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ตามกฎหมาย อ. ย่อมมีสิทธิที่จะให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้จำนองแทน โจทก์ที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลว่าเป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94

โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจของธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง และมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้เรียกร้องบังคับเอาแก่ ป. ผู้ตาย หรือกองมรดกของ ป. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 230

สิทธิของโจทก์ที่ 1 ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินเป็นต้นไป จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2535 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้แทนไป

   การที่ ป. ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เพียงแต่ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยที่อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 การให้จึงยังไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 4 ยังไม่มีความผูกพันตามสัญญาการให้ที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445  ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้   www.ทนายใกล้คุณ.com

***************************************

3. ทนายเล่าเรื่อง ผู้ค้ำประกัน เจ้าหนี้บังคับเรื่องดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 5 ปี

ฎีกาที่ 3259/2562

จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27

มีคดีที่ศาลใหน ให้ทนายในเครือข่ายของเราช่วยท่าน ปรึกษาทนายความของเราได้ที่ 099 464 4445  ค้นหาทนายในเครือข่ายของเราได้ที่เวปไซต์นี้   www.เครือข่ายทนายความ.com

***************************************

4. ทนายเล่าเรื่อง ผู้ค้ำประกันต้องรับชอบมากน้อยเพียงใด

ฎีกาที่ 5788/2562

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์

ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445  ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com

***************************************

5. ทนายเล่าเรื่อง สิทธิไล่เบี้ยของผู้ค้ำประกัน

ฎีกาที่ 7028/2562

โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร ก. จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้รายเดียวกัน ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แก่ธนาคารฯ แทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้

มีปัญหาปรึกษาทนายใกล้คุณ 099 464 4445  ค้นหาทนายใกล้คุณได้ที่เวปไซต์นี้   www.ทนายใกล้คุณ.com

***************************************

6. ทนายเล่าเรื่อง ค้ำประกัน

ฎีกาที่ 2997/2562

โจทก์ จำเลย กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท ธ. มีต่อบริษัท บ. จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน และถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ ไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การที่จำเลยและบริษัท บ. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ 1,600,000 บาท และเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ครบถ้วนเสร็จสิ้น บริษัท บ. จะถอนการยึดที่ดินรวมทั้งหมด 5 แปลง ให้แก่จำเลย และจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับจำเลยอีกต่อไป ต่อมาบริษัท บ. มีหนังสือยืนยันการชำระหนี้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัท บ. ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แสดงให้เห็นว่าบริษัท บ. เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ประกอบมาตรา 296 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้อีก โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัท บ. ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้

   อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดให้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งให้ชัดแจ้ง

อยู่กรุงเทพ ปรึกษาทนายกรุงเทพ 099 464 4445  ค้นหาทนายความได้ที่เวปไซต์นี้: www.ทนายกรุงเทพ.com

***************************************

7. ทนายเล่าเรื่อง การค้ำประกัน

ฎีกาที่ 1389/2561

ข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 5 เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันเอง โจทก์ในฐานะผู้รับโอนหนี้จากธนาคาร ด. มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงไม่มีผลให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทที่ทำกับธนาคาร ด. ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาสินเชื่อกับโจทก์ ปรากฏว่าเนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นการที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มาร่วมใช้วงเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 1 เคยได้รับจากธนาคาร ด. พร้อมกันนั้นได้มีการขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อและเปลี่ยนแปลงประเภทวงเงินสินเชื่อ โดยไม่ได้ตกลงให้หนี้เดิมระงับและบังคับตามหนี้ใหม่ สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 ไม่ทำให้หนี้ของจำเลยที่ 5 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไป จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

ตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทระบุว่า "สัญญาค้ำประกันฉบับนี้ให้ใช้บังคับโดยเอกเทศ ไม่ลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาระผูกพันของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเองที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนหรือหลังวันทำสัญญานี้ และให้มีผลผูกพันตลอดถึงกองมรดก ทายาทผู้รับมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน รวมทั้งผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกัน ก็ให้ใช้สัญญาฉบับนี้บังคับได้ด้วย" เมื่อโจทก์ได้รับโอนหนี้มาจากธนาคาร ด. โดยชอบ จำเลยที่ 6 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันจึงต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาเพิ่มวงเงินสินเชื่อเดิมกับโจทก์มิใช่การทำสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเดิม จำเลยที่ 6 และที่ 7 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ทรัสต์รีซีทที่เกิดขึ้นภายหลังวันทำสัญญาสินเชื่อด้วย

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 38 และ 46 ประกอบมาตรา 4 ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินประกาศข้อมูลในเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนลด และค่าบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น รวมทั้งข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์นั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของธนาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด คดีนี้ ธนาคารโจทก์มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นช่วง ๆ ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดต่ำตามประกาศธนาคารโจทก์นับถัดจากวันฟ้องต่ำกว่าอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อัตราดังกล่าวก็จะเป็นอัตราที่สูงเกินกว่าสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามกฎหมาย จึงเห็นสมควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยแก่โจทก์ให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์พึงเรียกได้ และเนื่องจากจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เห็นสมควรแก้ไขการคิดอัตราดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วย แม้จำเลยดังกล่าวจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษา

ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445  ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com

***************************************

8. ทนายเล่าเรื่อง ค้ำประกัน

ฎีกาที่ 2997/2562

โจทก์ จำเลย กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท ธ. มีต่อบริษัท บ. จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน และถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ ไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การที่จำเลยและบริษัท บ. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ 1,600,000 บาท และเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ครบถ้วนเสร็จสิ้น บริษัท บ. จะถอนการยึดที่ดินรวมทั้งหมด 5 แปลง ให้แก่จำเลย และจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับจำเลยอีกต่อไป ต่อมาบริษัท บ. มีหนังสือยืนยันการชำระหนี้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัท บ. ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แสดงให้เห็นว่าบริษัท บ. เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ประกอบมาตรา 296 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้อีก โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัท บ. ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้

   อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดให้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งให้ชัดแจ้ง

ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445  ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้   www.สู้คดี.com

***************************************

Visitors: 42,445