จ้างแรงงาน นายจ้างคือใครบ้าง
ผู้ที่ถือเป็นนายจ้าง
ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลธรรมดา
นายจ้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอาจติดกิจธุระ ไม่อาจควบคุม ดูแลการทำงานของลูกจ้างได้ จึงได้มอบหมายให้คนอื่นทำแทน เช่น นายเด่นนายจ้างต้องเดินทางไปติดต่องานที่ต่างประเทศ จึงมอบหมายให้นายเดี่ยวดูแลกิจการ ถือว่านายเดี่ยวเป็นนายจ้าง
คำพิพากษาฎีกาที่ 5731/2531
นายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 แยกออกได้เป็น 2 จำพวก คือ นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาและนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำหรับนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา นอกจากจะเป็นผู้ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค้าจ้างให้แล้ว ยังหมายความรวมไปถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างด้วย และลูกจ้างที่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างรับเข้าทำงานตามดำนาจหน้าที่ ที่นายจ้างมอบหมายย่อมเป็นลูกจ้างของนายจ้างผู้มอบหมายด้วย
ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล
ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล หมายถึง ผู้มีอำนาจกระทำแทนโดยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 เช่น กรรมการผู้จัดการ ผู้อำนวยการ ผู้ว่าการ กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นต้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 3129/2549
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พศ. 2541 มาตรา 5 จำเลยที่ 2 ย่อมจะถูกโจทก์ ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องให้รับผิดได้ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบ มาตรา 820 กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นตัวการต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายและเงินต่างๆให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวนั้น เป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พศ.2541 มาตรา 5และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบ มาตรา 820 ซึ่งไม่ขัดแย้งกัน คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว