คดีการค้าระหว่างประเทศ
2024-03-10
1. ปรึกษาทนายสู้คดี 099 464 4445 ค้นหาทนายได้ที่เวปไซต์นี้ www.สู้คดี.com
ทนายเล่าเรื่อง การค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสกุลเงิน
ฎีกาที่ 5658/2561
ตามสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้อง โจทก์และจำเลยตกลงชำระหนี้แก่กันเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น แต่จำเลยจะส่งใช้เป็นเงินไทยได้ก็โดยคิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินไทยและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นเงินไทยอาจมีผลให้จำเลยต้องชำระหรือโจทก์ได้รับชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้เงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง หากว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับเงินไทยจำนวนน้อยกว่า 23.93 บาท ซึ่งจะเป็นผลให้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
**************************************
2. มีปัญหาปรึกษาเรื่องครอบครัว ปรึกษาทนายคดีครอบครัว ทนายจอย 099 152 4195 ค้นหาทนายคดีครอบครัวได้ที่เวปไซต์นี้ www.ทนายคดีครอบครัว.com
ทนายเล่าเรื่อง เขตอำนาจศาลระหว่างประเทศ
ฎีกาที่ 2611/2562
แม้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 24 กันยายน 2555 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาด แก้ไขข้อผิดพลาดข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือตีความอธิบายข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในคำชี้ขาดโดยคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ และผู้คัดค้านเองก็เป็นฝ่ายอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีหนังสือคัดค้านคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง จนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ดังนั้น คำชี้ขาดวันที่ 24 กันยายน 2555 จึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติอันอาจมีคำร้องขอให้บังคับตามได้ดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ แต่ต้องถือเอาตามคำชี้ขาดและคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับหลัง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42
สำหรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทำนองว่า สัญญาขายฝ้ายดิบระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านใช้เงื่อนไข "invoice back" ในอันที่จะได้รับค่าสินค้าโดยไม่ต้องส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ถือเป็นข้อตกลงให้ผู้ซื้อต้องรับผิดมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย การตกลงให้ใช้กฎหมายอังกฤษและอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย ข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายอนุญาโตตุลาการและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแห่งสากลเนื่องจากอนุญาโตตุลาการขาดความอิสระและเป็นกลาง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศเป็นกระบวนการที่ปราศจากการสืบพยานบุคคล จึงไม่มีการนำเรื่องความผิดปกติของราคาฝ้าย ที่เกิดจากการปั่นราคามาวินิจฉัย ทั้งเมื่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการผิดพลาดโดยลงลายมือชื่อไม่ครบองค์คณะ ก็หาทางกลบเกลื่อนแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบให้กลับเป็นชอบ และการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชั้นอุทธรณ์แต่งตั้งโดยประธานสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศโดยมิได้รับความยินยอมหรือความเห็นจากคู่พิพาทนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อกำหนดกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศทำนองว่าไม่เป็นสากลและไม่เป็นกลาง กับโต้แย้งในเนื้อหาของสัญญาและดุลพินิจในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านกระทำผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันมิใช่การโต้แย้งกรณีใดกรณีหนึ่งดังที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ นั้น ปรากฏว่าเงินดังกล่าวเป็นยอดรวมของเงินส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาด และเงินดอกเบี้ยของเงินส่วนต่างดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ อันเป็นการพิพากษาโดยให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เนื่องจากมีการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมเป็นเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ยต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
***************************************
3. find a real lawyer in Thailand at our website www.thailandlawyer.info
ทนายเล่าเรื่อง การค้าระหว่างประเทศ
ฎีกาที่ 989/2561
การขนส่งสินค้ารายนี้มีการว่าจ้างรับขนของเป็นทอด โดยออกใบตราส่งไว้เป็นหลักฐานรวม 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ ใบตราส่งที่บริษัท ซ. ในฐานะผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ออกระบุชื่อบริษัท จ. เป็นผู้ส่งของ บริษัท ท. เป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า ส่วนจำเลยถูกระบุชื่อในช่องผู้ให้ติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งที่แท้จริงเป็นผู้ออกระบุชื่อบริษัท ซ. เป็นผู้ส่งของ จำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า เงื่อนไขการขนส่งตามใบตราส่งทั้งสองฉบับเป็นแบบ FCL/FCL หรือ CY/CY จากท่าเรือต้นทางเมืองรอตเตอร์ดัมมายังปลายทางท่าเรือกรุงเทพ โดยที่จำเลยถูกระบุชื่อในใบตราส่งทั้งสองฉบับต่างสถานะกัน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของจำเลยจึงต้องพิจารณาจากความสัมพันธ์ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตามที่ระบุในใบตราส่งแต่ละฉบับประกอบกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท ซ. ผู้ขนส่งในประเทศไทย และถูกระบุให้เป็นผู้ให้ติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ตามใบตราส่งที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ท. ผู้รับตราส่ง เมื่อบริษัท ซ. ว่าจ้างผู้ขนส่งอื่นคือโจทก์ให้ทำการขนส่งสินค้าแทน การที่โจทก์ออกใบตราส่งระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้าก็เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ในฐานะผู้ขนส่งอื่นกับจำเลยในฐานะผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 ซึ่งจำเลยมีพยานเบิกความว่า ก่อนโจทก์จะขนส่งสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อตัวแทนโจทก์ได้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบ พร้อมทั้งแจ้งกำหนดเวลาการแก้ไขเอกสารโดยให้แก้ไขได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ก่อนเวลา 16 นาฬิกา จำเลยได้แจ้งต่อไปยังบริษัท ท. และได้รับการยืนยัน โดยบริษัทดังกล่าวได้ส่งสำเนาใบกำกับสินค้ามาให้จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอแก้ไขเอกสาร จำเลยจึงได้ทำหนังสือขอให้โจทก์แก้ไขใบตราส่งและบัญชีสินค้าในเรือ โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัท ท. และออกใบปล่อยสินค้า โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัท ท. และภายหลังจากโจทก์ได้รับหนังสือแล้วโจทก์ได้ดำเนินการแก้ไขเอกสารพร้อมกับยื่นสำแดงต่อกรมศุลกากรและการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว เห็นได้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับเหตุผลในทางปฏิบัติเพื่อที่จำเลยจะได้ดำเนินการส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าที่แท้จริง และตรงกับข้อมูลการตรวจสอบในระบบ งานอิเล็กทรอนิกส์ใบตราส่งของกรมศุลกากร ซึ่งระบุชัดเจนว่าบริษัท ท. เป็นผู้รับตราส่ง เอกสารดังกล่าวส่งมาจากหน่วยงานราชการจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้ ใบแจ้งสินค้านำเข้าและใบแจ้งหนี้ที่บริษัท อ. แจ้งไปยังจำเลยก็มีข้อความระบุกำหนดเวลาแก้ไขเอกสารชัดเจน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้แก้ไขใบตราส่งโดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัท ท. แล้ว พฤติการณ์ที่จำเลยติดต่อขอแก้ไขเอกสารและขอรับใบปล่อยสินค้าจากโจทก์ก็เพราะจำเลยอยู่ในฐานะเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่งซึ่งต้องรับสินค้าจากโจทก์ขณะเดียวกันจำเลยก็ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ท. ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงที่จะแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งในใบตราส่งและออกใบปล่อยสินค้าในนามของบริษัท ท. แล้ว จำเลยจึงมิได้อยู่ในฐานะผู้รับตราส่งต่อไป และสิ้นความสัมพันธ์กับโจทก์ผู้ขนส่งอื่นตามข้อกำหนดในใบตราส่งโดยผลของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่และไม่อยู่ในฐานะที่จะรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ ตามเงื่อนไขการขนส่งของ CY ตัวหลังได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับมอบตู้สินค้าจากโจทก์จึงไม่ถือเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดคำรับรองตามหนังสือร้องขอแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งนั้น เห็นว่า หนังสือดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยขอรับรองว่าจะไม่ให้โจทก์ได้รับผลกระทบจากการเรียกร้องหรือผลที่ตามมาจากการที่โจทก์ปฏิบัติตามที่จำเลยเรียกร้อง เมื่อความรับผิดตามคำรับรองของจำเลยอาจเกิดขึ้นเนื่องจากการขอให้โจทก์แก้ไขชื่อผู้รับตราส่ง จึงต้องพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวมีผลให้สิทธิและหน้าที่ของโจทก์เปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งเห็นได้ว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นผลให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ท. ผู้ที่จำเลยระบุว่าเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง ข้อรับรองดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการที่จำเลยรับรองสถานะของบริษัท ท. ว่าเป็นผู้รับตราส่งที่มีสิทธิรับมอบสินค้าตามใบตราส่ง หากภายหลังมีบุคคลภายนอกมาอ้างสิทธิในฐานะผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าจากโจทก์หรือบุคคลนั้นมีสิทธิดีกว่าก่อให้เกิดความเสียหายจากกรณีที่โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิรับไปจำเลยจึงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หาใช่เป็นการที่จำเลยรับรองว่าจะชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในการกระทำหรือละเว้นกระทำการของบริษัท ท. ซึ่งจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่นอกเหนือการรับรู้ของจำเลยในทุกกรณีไม่ ดังนั้นการที่บริษัท ท. ไม่ไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำรับรองของจำเลยเช่นกัน
**************************************