การต่อสู้คดีอาญา
การต่อสู้คดีอาญา
การว่าความต่อสู้คดีให้แก่จำเลยหรือการแก้ต่างคดีจะเป็นไปดังความประสงค์ของจำเลยก็ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในทางกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาความอาญาและความแพ่ง ตลอดทั้งเทคนิคการว่าความต่างๆ ที่ต้องนำมาใช้ผสมผสานกัน ของการว่าความในคดีอาญาที่ทนายจำเลยควรนำไปใช้ในการว่าความเพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นไปด้วยดีมีประสิทธิภาพและเพื่อความสำเร็จในการว่าความอาญาดังที่ตั้งใจไว้
๑. ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีก็มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคนธรรมดาทั่วไป มิใช่รู้เห็นไปหมดทุกเรื่อง อย่าไปคาดหมายว่าผู้พิพากษาคงเข้าใจและรู้แล้ว ในบางเรื่องต้องแถลงให้ทราบ
๒. การแสดงออกของผู้พิพากษาไม่ว่าจะปรากฎทางวาจาหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในขณะนั่งพิจารณาคดี อย่านำการแสดงออกนั้นๆไปคาดหมายว่าผลคดีจะเป็นเช่นใด
๓. พึงหลีกเลี่ยงการโต้แย้งด้วยอารมณ์กับผู้พิพากษาหรือพนักงานอัยการในห้องพิจารณา และเมื่ออยู่นอกหน้าที่ควรผูกไม่ตรีให้ความเคารพต่อผู้พิพากษาและพนักงานอัยการ
๔. ไม่ใช้อารมณ์ในขณะซักถามพยาน และอย่าหวั่นไหวไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นขณะว่าความอยู่ในห้องพิจารณา ให้มีสติระลึกอยู่เสมอว่าเป็นเพียงการทำหน้าที่เท่านั้น
๕. อย่ายืนยันผลของคดีแก่ลูกความก่อนศาลมีคำพิพากษา ควรบอกแต่เพียงว่าหากศาลเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่จำเลยต่อสู้ก็มีทางชนะคดีได้
๖. ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ควรแถลงศาลขอให้พิจารณาเป็นการลับ
๗. ในคดีที่มีพยานคู่ หากไม่สามารถถามค้านในนัดเดียวกันได้ต้องแถลงศาลขอเลื่อนคดี
๘. ถ้าพยานคู่บางปากต้องส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น ให้แถลงของส่งประเด็นไปสืบพยานคู่ปากนั้นก่อนแล้วจึงมาสืบพยานคู่อีกปากหนึ่งที่ศาลเดิม
๙. เมื่อเห็นว่าพยานที่โจทก์ขอส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่นไม่ใช่พยานที่สำคัญในคดี ถ้าทนายจะไม่ตามประเด็นไป ควรแถลงของให้ศาลที่รับประเด็นช่วยถามพยานให้ตามรูปคดี โดยให้ศาลที่ส่งประเด็นบันทึกคำแถลงของทนายไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา
๑๐. หากเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความไม่ตรงกับที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน ถ้าประสงค์จะทำลายน้ำหนักพยาน ให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกสำนวนการสอบสวนมาประกอบการพิจารณา
๑๑. ถ้าพนักงานอัยการโจทก์จะให้รับรองข้อเท็จจริงใด ควรสอบถามตัวจำเลยก่อน และต้องให้ชัดเจนว่าที่รับนั้นมีข้อความอย่างไรและมีความหมายเพียงใด
๑๒. เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีไม่บันทึกคำถามตอบใด ให้แถลงขอให้บันทึกโดยสุภาพและแสดงเหตุผลแห่งการขอให้บันทึกด้วย
๑๓. ขณะอยู่ในห้องพิจารณาควรระมัดระวังถ้อยคำกริยาต่างๆ อย่าให้ศาลตำหนิว่ากล่าวเอาได้ และให้หลีกเลี่ยงการกระทำใดที่จะเป็นการละเมิดอำนาจศาล
๑๔. การยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยเป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๙/๑ จะยื่นในวันนัดสืบพยานโจทก์หรือก่อนวันสืบพยานจำเลยก็ได้
๑๕. เมื่อถามพยานแล้วพยานไม่ตอบ อย่าข่มขู่พยาน
๑๖. การจับกุมหรือการค้นเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวนและอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ
๑๗. ถ้าพยานจำเลยต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ควรขอสืบพยานไว้ก่อน
๑๘. คดีที่มีจำเลยหลายคนและมีทนายความหลายคนให้คำปรึกษาทนายจำเลยคนอื่นด้วยในการต่อสู้คดี
๑๙. คดีที่จำเลยหลายคนให้สังเกตุคำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยแต่ละคนด้วยเพื่อเป็นแนวทางในการต่อสู้คดี
๒๐. ในคดีความผิดส่วนตัวอย่าลืมพิจารณาเรื่องอายุความด้วย และหาทางประนีประนอมยอมความ หากตกลงกันไม่ได้จึงต่อสู้คดีต่อไป
๒๑. หากจำเลยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหรือมีความจำเป็นหรือมีความยากลำบากในการเดินทางมาศาล ควรยื่นคำร้องขอพิจารณาลับหลังจำเลย
๒๒. การเคร่งครัดในกระบวนพิจารณาของผู้พิพากษาแต่ละคนไม่เหมือนกัน
๒๓. การแก้ไขคำให้การจำเลยกลับไปกลับมาไม่พึงกระทำโดยเด็ดขาด
๒๔. คำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นเพียงการชักจูงให้ศาลเห็นด้วยกับพยานหลักฐานของจำเลย
๒๕. การรวมพิจารณาคดีมีผลดีกว่าที่จำเลยต้องแก้ต่างเป็นหลายคดีในมูลคดีเดียวกัน
๒๖. วัตถุพยานหากมีผลต่อคดีให้ส่งเป็นพยานต่อศาล
๒๗. คดีความผิดเล็กน้อยที่ศาลอาจรอลงโทษจำเลย ควรสอบถามจำเลยก่อนรับสารภาพ
๒๘. ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยควรแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลจะได้นำไปพิจารณาว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล
๒๙. ภาพพจน์การแสดงออกของจำเลยขณะอยู่ในห้องพิจารณาต้องเหมาะสมกับรูปคดีที่ถูกกล่าวหา
(เกร็ดเล็กๆน้อยๆจากหนังสือสู้ความอาญา ๒๐๒๐ ผู้เขียน สุชาติ รุ่งทรัพยธรรม อดีตทนายความ ผู้พิพากษาและอาจารย์พิเศษ)